ฝึกลูกขับถ่าย ให้เหมาะสม จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ ที่เหมาะสมตามวัย รวมถึงเป็นการปลูกฝังด้านสุขอนามัย ความสะอาด รู้จักร่างกายตัวเอง และรู้จักการช่วยเหลือตัวเองในเบื้องต้นได้ หากพ่อแม่ไม่สอนลูกเรื่องการขับถ่าย ปล่อยให้ขับถ่ายในผ้าอ้อมไปจนโต จะทำให้ลูกมีการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสมตามวัย เมื่อลูกต้องไปโรงเรียน จะทำให้มีปัญหาในการดูแลความสะอาด อาจเกิดการขับถ่ายเล็ดราด หรือยังต้องใส่ผ้าอ้อมจนอึดอัด  ส่งผลเสียต่อการเรียนรู้ ส่งผลต่อพัฒนาการตามวัยได้ สามารถหาวิธีฝึกลูกขับถ่ายได้เองง่ายๆ ตามบทความนี้

ฝึกลูกขับถ่าย เตรียมตัวอย่างไร

สำหรับบ้านไหนที่ตัดสินจะฝึกลูกขับถ่ายด้วยตัวเอง สิ่งแรกที่ต้องเตรียมพร้อมก่อนก็คือ การให้ลูกน้อยได้รู้จักกับห้องน้ำ ชวนเขาไปเรียนรู้อุปกรณ์ต่างๆ ว่าสิ่งนี้คืออะไร ใช้ยังไง ไม่ว่าจะเป็นชักโครก สายฉีดน้ำ หรือกระดาษชำระ อธิบายให้เขาเข้าใจ และได้ทดลองใช้จริง อย่างการลองกดชักโครกให้ลูกดู เมื่อทำภารกิจเสร็จก็ต้องล้างมือ เป็นต้น

สำหรับผู้ใหญ่อาจจะมองว่าห้องน้ำไม่มีอะไรที่ดูน่าตื่นเต้น แต่เชื่อเถอะว่า เด็กๆ จะตื่นเต้นกับการเรียนรู้ และได้ทำความรู้จักกับอุปกรณ์ต่างๆ ในห้องน้ำอย่างแน่นอน ค่อยๆ สอนให้เขารู้จักแต่ละอย่าง ทำเป็นตัวอย่าง และลองให้เขาได้ทดลองใช้จริง

ควรฝึกลูกขับถ่ายตอนอายุเท่าไร

หลังจากที่สอนให้เขาได้รู้จักกับห้องน้ำพอสมควรแล้ว ควรตัดสินใจว่าจะให้ลูกเลิกใส่ผ้าอ้อมเลย หรือว่าจะให้ใส่เฉพาะตอนนอน หากบ้านไหนยังไม่พร้อมอาจจะให้ลองใส่ผ้าอ้อมตอนนอนในช่วงกลางคืนก่อนก็ได้ และเมื่อตกลงตัดสินใจได้แล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่ควรจะเตรียมไว้ลูกคือกางเกงใน

อาจจะพาเขาไปซื้อกางเกงในตัวแรกด้วยกัน ให้เขาได้เลือกสี หรือลายที่ชอบ และยังเป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้ลูกน้อยได้เข้าใจว่า เขากำลังจะไม่ได้ใช้ผ้าอ้อมแล้ว ต่อไปนี้จะไม่สามารถขับถ่ายได้ตามใจเหมือนเมื่อก่อน นอกจากนี้ควรฝึกให้เขาคุ้นชินกับการใส่กางเกงในตลอดเวลา

วัยที่มีพัฒนาการและพฤติกรรมพร้อมที่จะเริ่มฝึกลูกขับถ่ายได้ ควรเริ่มเมื่ออายุ 1 ปี – 1 ปี 6 เดือน และมักจะทำได้ดีตอนอายุ 2 ปี หรือเด็กบางคนอาจจะมาฝึกตอนอายุ  2 ปี และนั่งกระโถนได้เองตอนอายุ 3 ปี หรือบางคนอาจทำได้เมื่อโตกว่านั้น ขึ้นอยู่กับความพร้อมและสัญญาณต่างๆ ที่แสดงออกมาทั้งทางร่างกาย การสื่อสาร และความต้องการของลูก ไม่ควรเกิดจากการบังคับลูก

สัญญาณที่บอกว่าลูกพร้อมฝึกขับถ่าย

  1. เมื่อลูกเริ่มสามารถเว้นช่วงการถ่ายปัสสาวะได้นานประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง  มีความถี่ในการขับถ่ายลดลง เช่น ไม่ฉี่ใส่ผ้าอ้อมได้นาน 2 ชั่วโมง
  2.  เริ่มถ่ายอุจจาระเป็นเวลา เช่น ในช่วงเช้าหลังตื่นนอน หรือหลังอาหารเช้า
  3.  ลูกเข้าใจการ ”ฉี่” การ ”อึ” รู้จักการขับถ่าย เริ่มเข้าใจความแตกต่างระหว่างการปวดปัสสาวะและอุจจาระ
  4. แสดงความสนใจเวลาเห็นผู้ใหญ่เข้าห้องน้ำ เลียนแบบหรือพยายามจะเดินตาม  สนใจและถามว่าในห้องน้ำไว้ทำอะไร มีอะไรบ้าง
  5. ลูกเข้าใจภาษาพูดง่ายๆ โดยสามารถโต้ตอบด้วยท่าทางคำพูดได้ เช่น “อึ”  “ฉี่”
  6. ลูกสามารถลองนั่งกระโถนสำหรับเด็ก และลุกขึ้นยืนได้เอง
  7. เริ่มมีอาการแสดงออกบางอย่างเมื่อจะขับถ่าย เช่น ทำท่าทางปวดฉี่ บิดขาไปมาและมองหาห้องน้ำ  แสดงความตื่นเต้นเมื่อเห็นปัสสาวะตัวเองพุ่ง  หรือรู้สึกอึดอัด ทำท่าจับท้องจับก้นของตัวเอง
  8. ลูกอยากสวมกางเกงแทนผ้าอ้อม รู้สึกอึดอัดเมื่อผ้าอ้อมเปียกหรือมีสิ่งขับถ่ายในผ้าอ้อม  เริ่มพยายามดึงผ้าอ้อม ถอดกางเกงหรือใส่กางเกงเองได้

เทคนิคฝึกลูกขับถ่าย

1. สอนให้ลูกบอกเมื่อต้องการขับถ่าย และรู้จักสถานที่ขับถ่ายที่เหมาะสม 
เมื่อฝึกลูกขับถ่ายให้สอนลูกพูด “อึ” หรือ “ฉี่” ได้แล้ว ให้สังเกตการแสดงออกของลูก เมื่อจะขับถ่าย เช่น ลูกกำลังเล่นอยู่แต่หยุด ทำหน้านิ่วคิ้วขมวด อารมณ์ไม่ดี  จับที่ผ้าอ้อม อวัยวะเพศหรือก้น  คุณพ่อคุณแม่ควรเข้าไปถามลูกว่า “ฉี่ไหม” หรือ “อึไหม” เพื่อให้ลูกรู้ว่าเป็นการปวดปัสสาวะ หรืออุจจาระ แล้วจึงพาไปที่กระโถนหรือห้องน้ำ
กรณีที่ลูกถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระบนผ้าอ้อม หรือรดกางเกงไปแล้ว ควรพูดให้ลูกรู้ว่า “ลูกฉี่หรือ ลูกอึ” แล้วพาไปเข้าห้องน้ำ ล้างทำความสะอาด และให้ทิ้งสิ่งขับถ่ายลงในโถส้วมให้ลูกเห็น ให้รู้ว่าเวลาขับถ่ายแล้วต้องทำอะไรบ้าง
2. สร้างความคุ้นเคยกับกระโถน 
แรกๆ ของการฝึกลูกขับถ่าย เมื่อลูกเห็นกระโถนอาจจะยังไม่กล้านั่ง หรือกลัว พ่อแม่อาจต้องทำท่าทางให้ลูกดู และลองให้ลูกคุ้นเคยกับการนั่งกระโถน ให้ลูกลองนั่งกระโถนบ่อยๆ อาจนั่งโดยที่ลูกยังสวมผ้าอ้อมไว้ก่อนก็ได้ หรือถ้าลูกยอมก็ให้นั่งในขณะที่ไม่ได้สวมผ้าอ้อม และเพื่อไม่ให้ลูกเครียดหรือกลัวในขณะที่นั่งกระโถน ก็สามารถอ่านนิทานให้ฟัง พูดคุยเล่นกับลูก  หรือ เล่นของเล่นได้

3. ฝึกลูกขับถ่ายให้สม่ำเสมอและเป็นเวลา

การฝึกลูกขับถ่ายในระหว่างวัน ควรกำหนดหรือกะเวลาให้ลูกถ่ายปัสสาวะทุก 2-3 ชั่วโมง และให้ถ่ายอุจจาระทุกวัน วันละ 1 ครั้ง เช่น ให้ลูกนั่งกระโถนในช่วงเช้าทุกวันหลังตื่นนอน หรือหลังมื้ออาหารเพื่อถ่ายอุจจาระ แต่ต้องให้ลูกเต็มใจไม่บังคับ รวมทั้งอาจให้ลูกเริ่มถอดกางเกงหรือผ้าอ้อมสำเร็จรูปในช่วงสั้นๆ และวางกระโถนไว้ใกล้ๆ เพื่อให้ลูกลองนั่งเล่นหรือนั่งขับถ่ายได้ตามต้องการ

4. ดื่มน้ำและกินอาหารช่วยกระตุ้นการขับถ่าย

ถ้าลูกท้องผูกเขาจะกลัวเจ็บและไม่อยากขับถ่าย จึงควรให้ลูกทานผัก ผลไม้ ดื่มน้ำให้มากพอ ช่วยกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะและช่วยให้อุจจาระนุ่มถ่ายออกง่าย ซึ่งในเด็กที่อายุประมาณ 1-2 ปีขึ้นไป ไม่ควรดื่มนมมากเกิน 32 ออนซ์ ต่อวัน แต่ควรให้นมเป็นเพียงอาหารเสริม เนื่องจากนมมีปริมาณไขมันมาก ทำให้การเคลื่อนตัวของลำไส้ช้าลง จะส่งผลให้การฝึกขับถ่ายอุจจาระยากขึ้น

5. ฝึกลูกขับถ่ายด้วยการนั่งชักโครกเมื่อลูกโตขึ้น

เมื่อลูกนั่งกระโถนได้และเติบโตขึ้น นั่งเองได้แข็งแรงแล้ว อาจพัฒนามาฝึกขับถ่ายที่โถส้วมในห้องน้ำ ด้วยการใช้ฝารองนั่งชักโครก และหาที่วางเท้าให้ลูกวางได้เต็มฝ่าเท้า ไม่ให้เท้าลอยจากพื้นเพื่อป้องกันการพลัดตกหกล้มลื่น หรือ ฝึกลูกชายให้ฉี่ในโถปัสสาวะเด็ก ให้ลูกชายได้รู้จักปลดหรือรูดซิปกางเกงเองได้ ยืนฉี่เองได้ และพ่อแม่ต้องอยู่ดูแลลูกตลอดเวลา

6. สอนเรื่องการทำความสะอาด

เมื่อลูกคุ้นเคยสามารถถอดผ้าอ้อมสำเร็จรูป ถอดกางเกง และนั่งกระโถนเองได้ ให้คุณพ่อคุณแม่พาลูกไปทำความสะอาดพร้อมสอนเรื่องสุขอนามัย เช่น ล้างก้นด้วยน้ำสะอาด เช็ดก้นด้วยกระดาษชำระ ป้ายจากด้านหน้าไปด้านหลัง เพื่อไม่ให้อุจจาระมาเปื้อนด้านหน้า โดยเฉพาะในเด็กหญิง รวมถึงสอนให้ลูกล้างมือหลังจากใช้กระโถน และเช็ดชำระล้างก้นแล้ว

7. เลือกกระโถนที่ถูกใจ เป็นของใช้ประจำตัว  

ก่อนฝึกลูกขับถ่ายให้ลูกเลือกลายและสีของกระโถนหรือฝาชักโครกเอง โดยคุณพ่อคุณแม่ควรจะให้ตัวเลือกโดยดูจากขนาดที่พอเหมาะกับตัวลูก ไม่เล็กหรือใหญ่เกินไป ให้ลูกนั่งได้สบาย นอกจากนี้กระโถนของลูก ควรต้องผลิตจากวัสดุที่ปลอดภัย ผิวกระโถนควรเรียบลื่น ไม่มีเหลี่ยมแหลมคมหรือเศษวัสดุยื่นออกมาบาดผิว และควรออกแบบมาให้ทำความสะอาดได้ง่าย ไม่มีซอกเล็กซอกน้อยที่ทำความสะอาดได้ไม่ทั่วถึง

ฝึกลูกขับถ่าย

ฝึกลูกขับถ่ายด้วยตัวเองภายใน 3 วัน

สำหรับการเริ่มฝึกลูกขับถ่าย หลังจากที่ได้แนะนำให้ลูกน้อยได้รู้จักวิธีใช้และอุปกรณ์ต่างๆ แล้ว ก็มาถึงการฝึกจะใช้เวลาประมาณ 3 วัน และควรทำติดต่อกัน คุณแม่ควรวางแผนว่าจะสะดวกในวันไหน แนะนำให้ใช้วันหยุดสุดสัปดาห์ เช่น ศุกร์ เสาร์ และอาทิตย์ ในกรณีที่ไม่อยู่ด้วยได้ตามวันที่กำหนดไว้ แนะนำให้แจ้งให้คนในครอบครัว หรือพี่เลี้ยงที่ดูแล เพื่อส่งต่อการฝึกในวันที่ไม่อยู่ โดยสามารถฝึกได้ดังนี้

  • วันที่ 1

หลังจากที่ลูกตื่นนอน ทำกิจวัตรยามเช้า รวมทั้งถอดผ้าอ้อมแล้ว ในวันแรกยังไม่ต้องสวมกางเกงในให้เขา เพื่อให้ลูกได้เรียนรู้และเข้าใจว่า ตอนนี้ไม่มีผ้าอ้อมแล้วนะ หากต้องการขับถ่ายจะต้องใช้ห้องน้ำ

สามารถเตรียมกระโถนไว้บริเวณในบ้านได้ เช่น ห้องนั่งเล่น ห้องนอน เพื่อความสะดวกในช่วงแรก หรือบางบ้านที่อยากให้กิจกรรมนี้อยู่ในห้องน้ำแต่เพียงอย่างเดียว ก็ขึ้นอยู่กับการความต้องการของแต่ละบ้าน ว่าสะดวก และอยากให้เป็นแบบไหน

สำหรับเช้าวันแรก ทำกิจกรรมทุกอย่างปกติ เมื่อถึงมื้อเช้า ใหลูกน้อยได้ดื่มน้ำแก้วใหญ่ จะเป็นน้ำเปล่า น้ำผลไม้ หรือนมก็ได้ พยายามให้ลูกได้ดื่มน้ำได้มากที่สุด และเมื่อลูกส่งสัญญาณว่าต้องการขับถ่าย ไม่ว่าจะเป็นการแสดงอาการ หรือบอกเป็นคำพูด ให้รีบพาลูกไปห้องน้ำ

เมื่อพาลูกเข้าห้องน้ำ จับเขานั่งบนชักโครก คุณแม่อาจจะหาฐานเสริมสำหรับเด็กมาด้วยก็ได้ และให้เขาได้ปฏิบัติภารกิจให้เสร็จ นอกจากการสังเกตว่าต้องไปห้องน้ำแล้วหรือไม่ คุณแม่อาจจะหมั่นถามเขาบ่อยๆ เช่น ปวดฉี่ไหม ปวดอึไหม หรืออาจจะตั้งนาฬิกาเตือนทุกๆ 20 นาที เมื่อเขาได้ยินเสียงนาฬิกา ให้ไปห้องน้ำ เป็นต้น และไม่ควรลืมที่จะให้ลูกล้างมือหลังเสร็จภารกิจ เพื่อสุขอนามัยที่ดี

หากวันนั้นการฝึกลูกขับถ่ายโดยที่ลูกไม่ยอมให้ความร่วมมือ หรือเกิดอาการงอแง ลองตั้งเวลากับเขา เช่น “เราจะลองฝึกเข้าห้องน้ำตอน 10 โมงนะคะ” กำหนดเวลาให้เขาทราบล่วงหน้า หรือแลกเปลี่ยนกันเช่น เมื่อเขาฝึกแล้ว จะได้เล่นของเล่น รวมทั้งการบอกด้วยเหตุผลอย่าง “ถ้าลูกไม่ฉี่ในห้องน้ำ แล้วฉี่บนพื้นแทน ลูกจะต้องช่วยแม่ทำความสะอาดนะคะ” ก็ช่วยได้เช่นกัน และไม่ลืมที่จะกล่าวชมเมื่อเขาปฏิบัติภารกิจเรียบร้อยแล้ว

  • วันที่ 2 และวันที่ 3

สำหรับการฝึกลูกขับถ่ายในวันที่ 2 และวันที่ 3 เป็นไปตามแบบวันแรก ใน 2 วันหลังนี้อาจจะเลือกอยู่ในห้องน้ำกับลูก หรืออาจจะรอที่หน้าห้องน้ำก็ได้ หากมีออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ให้เตรียกางเกงในสำรอง อุปกรณ์ทำความสะอาด รวมทั้งกระโถนในกรณีที่ออกไปในพื้นที่ที่ไม่มีห้องน้ำ

หากลูกฉี่ หรืออึราดในช่วงนี้ ยังไม่ต้องกังวลไป การฝึกอาจจะต้องใช้เวลาให้เขาคุ้นชินบ้าง เมื่อเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ขึ้น ไม่ต้องดุลูก เพียงแค่พาเขาไปทำความสะอาด และเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ พร้อมบอกกับลูกน้อยว่า “เราจะอึ ฉี่ ในห้องน้ำ หรือกระโถน” เพื่อเป็นการบอกให้เขาได้เข้าใจ

ข้อแนะนำเพิ่มเติมสำหรับการฝึกลูกขับถ่ายด้วยตัวเอง

  • หากวันไหนที่ต้องออกนอกบ้าน ควรให้ลูกได้ขับถ่ายก่อนออกจากบ้าน และเมื่อถึงที่หมายแล้วควรให้ลูกได้ขับถ่ายก่อนเป็นอันดับแรก
  • พกเสื้อผ้า กางเกงใน และอุปกรณ์ทำความสะอาดอย่าง ทิชชู่เปียก สำรองติดตัวไปด้วย ในวันที่มีการเดินทางออกนอกบ้าน
  • ในกรณีที่ฝากลูกให้ญาติ พี่เลี้ยง หรือศูนย์รับเลี้ยงเด็ก ควรแจ้งให้คนที่ดูแลได้ทราบว่าตอนนี้ ลูกไม่ได้ใช้ผ้าอ้อมแล้ว จำเป็นต้องเข้าห้องน้ำ รวมทั้งสัญญาณต่างๆ ที่บอกว่าลูกต้องการขับถ่าย เขาจะแสดงอาการแบบไหน บอกอย่างไร แจ้งให้คนดูแลได้ทราบ
  • การฝึกลูกขับถ่ายด้วยตัวเอง อาจจะเป็นเรื่องที่ท้าทายกับคุณแม่ และครอบครัวเป็นอย่างมาก เนื่องจากลูกจะไม่ใส่ผ้าอ้อมแล้ว การฝึกช่วงแรกเด็กอาจจะพลาดบ้างบางครั้ง คุณแม่ควรมีสติ และใจเย็นกับการฝึก ไม่ควรลงโทษ ดุ หรือหงุดหงิดใส่ เพราะจะส่งผลลบกับเด็ก ทำให้เขามองว่าการเข้าห้องน้ำเป็นสิ่งที่ไม่น่าอภิรมย์ใจ หรือมองในเชิงลบ
  • เชื่อมั่นในการฝึกลูกขับถ่ายตลอดระยะเวลาทั้ง 3 วัน แม้ว่าช่วงวันแรกๆ นั้น อาจจะดูยากลำบาก ไม่เป็นไปอย่างที่คิด หรือบางครั้งลูกอาจจะฉี่ และอึราด ไม่ทันได้เข้าห้องน้ำก็ตาม พยายามฝึกไปเรื่อยๆ ตามแผนที่วางไว้ เมื่อผ่านพ้นไป 3 วัน ลูกจะสามารถเข้าใจในการฝึกขับถ่ายมากขึ้น

 

สิ่งที่สำคัญสำหรับการฝึกลูกขับถ่ายด้วยตัวเอง นั่นคือการที่ทุกคนในครอบครัวจะต้องรับทราบข้อมูล และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก ซึ่งจะช่วยให้ลูกสามารถไปเข้าห้องน้ำกับใครก็ได้ ที่ไม่ใช่แค่คุณแม่เพียงแค่คนเดียว การขับถ่ายด้วยตัวเองก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายมากขึ้นสำหรับลูกน้อย

 

เรื่องอื่นๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับเด็ก

ที่มาของบทความ

 

ติดตามอ่านเรื่องเกี่ยวกับเด็กได้ที่ vfdide.com
สนับสนุนโดย  ufabet369